ยกระดับมูลโคนม ไอเดียจาก3ทีมนักวิจัยไทยกับนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้ ตอบโจทย์วิถีคนรักษ์โลก สู่ชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างงาน สร้างอาชีพ

ยกระดับมูลโคนม ไอเดียจาก3ทีมนักวิจัยไทยกับนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้ ตอบโจทย์วิถีคนรักษ์โลก สู่ชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างงาน สร้างอาชีพ
โครงการนวัตกรรมการผลิตอิฐบล็อกประสานและกระถางต้นไม้จากมูลโคเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นโครงการที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศ หรือบพข. ได้สนับสนุนทุนวิจัยในปีงบประมาณ2565 โดยมีดร.ณัฐภร แก้วประทุม นักวิชาการ7 ฝ่ายวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงโคนม องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับนักวิจัยจาก 3 สถาบัน ได้แก่มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ได้ดำเนินงานวิจัยมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม2565 ซึ่งทำวิจัยร่วมกับฟาร์มโคนมในอำเภอมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี มีนายสุกิจ สิงห์กลาง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเข้าร่วมโครงการกับคณะนักวิจัย ความก้าวหน้าของโครงการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยคณะนักวิจัยให้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
   ผศ.ดร.ประชุม คำพุฒ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายว่า การนำมูลโคนมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับชุมชนและสอดคล้องกับ BCG นั้นมีแนวคิดหลากหลายในการนำไปใช้ประโยชน์ โดยในโครงการนี้ เลือกเทคโนโลยี (1) อิฐบล็อกประสานที่ใช้ก่อสร้างผนังอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งในอดีตชาวบ้านใช้มูลสัตว์ร่วมกับฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำยุ้งฉางเก็บเมล็ดพืช ใช้ทำที่อยู่อาศัย ทำบ้านดิน มีข้อดีที่ต้นทุนต่ำ เป็นธรรมชาติ ช่วยรักษาอุณหภูมิในห้องได้ดี นักวิจัยจึงได้นำมาพัฒนาสูตรใหม่ ให้มีความทันสมัย น่าใช้งาน แข็งแรง สวยงาม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (2) กระถางต้นไม้โดยนำมาผสมกับสารเชื่อมประสานและขึ้นรูปด้วยเครื่องอัด สามารถทำส่วนผสมได้ทั้งแบบย่อยสลายได้เพื่อใช้เพาะกล้าต้นไม้ทดแทนถุงเพาะพลาสติกที่เป็นขยะหลังจากใช้งานแล้ว เมื่อปลูกต้นไม้ในกระถางย่อยสลายได้จากมูลโคได้ระยะเวลาการเติบโตที่พอเหมาะแล้วก็สามารถนำไปปลูกลงดินได้ทันที และกระถางต้นไม้แบบไม่ย่อยสลายเพื่อเป็นกระถางปลูกต้นไม้ตกแต่งขนาดต่าง ๆ ที่นิยมใช้ในท้องตลาด สามารถนำไปปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น แคคตัส ไม้อวบน้ำ และไม้ประดับอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตทีมวิจัยยังมีเป้าหมายทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากมูลโคเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
   ด้าน ผศ.ดร.ชุติมา ไวศรายุทธ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผู้รับผิดชอบในการออกแบบโซ่คุณค่าพัฒนาแบรนด์และโมเดลธุรกิจร่วมกับทีมนักวิจัยอีก 3 ท่าน คือ ผศ. ดร. ศศรสใจจิตร์(วิศวะอุตสาหการ) ดร. พิธาลัย ผู้พัฒน์(การออกแบบอุตสาหกรรม)และ ผศ. ดร. อภิญญา ลีลาวณิชกุล (การสร้างช่องทางตลาดออนไลน์)ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ได้ประยุกต์ใช้หลักการออกแบบโครงสร้างธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำให้สามารถลงทุนต่อขยายโซ่คุณค่าของกิจการขายน้ำนมดิบของกลุ่มสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองให้นวัตกรรมอิฐและกระถางจากมูลโคเติบโตเป็นธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งแบรนด์ให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแรก ที่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงาน มีวิถีชีวิตคนเมืองใช้บริการคาเฟ่ ปลูกพืช ท่องเที่ยว ทำครัวและถ่ายรูปบนสื่อสังคมออนไลน์ (กลุ่ม Y2K) โดยกลุ่มเป้าหมายนี้ มีพฤติกรรมสร้างสมดุลการใช้ชีวิต สนับสนุนธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมีอัตลักษณ์หรือเป็นสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ จึงเป็นเครือข่ายเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้เป็นระบบลูกค้าสัมพันธ์ ที่ช่วยสื่อสารเพื่อขยายตลาด เป็นตัวแทนในการหาประเด็นนวัตกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งอาจสนใจร่วมหลักสูตรจากศูนย์เรียนรู้ และยกระดับเป็นผู้ร่วมลงทุนในกิจการ ที่เกิดจากนวัตกรรมการผลิต อิฐกระถาง และกิจการต่อขยายจากคาเฟ่โดยนักวิจัยได้ร่วมทำงานกับ หัวหน้าโครงการ และเกษตรกรเจ้าของฟาร์มโคนม ในการออกแบบโรงงานต้นแบบการผลิตอิฐกระถางที่ใช้พลังงานโซล่าเซล และก๊าซชีวภาพจากมูลโค รวมทั้งใช้วัสดุหมุนเวียนทั้งอิฐก่อผนังและวัสดุมุงหลังคาซึ่งเป็นส่วนประกอบของโรงงานต้นแบบ รวมทั้งการออกแบบระบบผลิตร่วมกับนักวิจัยด้านวัสดุและสูตรอิฐกระถางที่มีมูลโคเป็นส่วนประกอบ ซึ่งหลังจากโรงงานต้นแบบและกระบวนการผลิตเริ่มผลิตต่อเนื่อง ต้นแบบโมเดลธุรกิจและการสร้างช่องทางการตลาดออนไลน์จะถูกพัฒนาและทวนสอบต่อไปเพื่อให้ธุรกิจเกิดเป็นวงจรหมุนเวียนและประเมินการเติบโตต่อไป
   ผศ.ดร. สุทธิจิตต์ เชิงทอง จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ให้ข้อมูลว่ากากมูลโคเป็นผลพลอยได้จากการใช้เทคโนโลยีเครื่องแยกกาก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้จัดการน้ำทิ้งและมูลโคของฟาร์มโคนมตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ก่อให้เกิดผลพลอยได้หลักสองชนิดคือก๊าซชีวภาพ และกากมูลโค จากลักษณะของโครงสร้างที่มีเนื้อละเอียดของกากมูลโคที่ได้ จึงเหมาะแก่การนำไปเป็นกระถางปลูกพืชและอิฐบล็อกประสาน ผลประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มที่เหนือกว่าการจำหน่ายในรูปแบบของปุ๋ยมูลโคมากน้อยเพียงใด จะถูกนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มตามโมเดลต้นแบบที่ออกแบบในรูปของระบบธุรกิจที่เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค ตลอดจนการสร้างตราสินค้าของวิสาหกิจชุมชน เพื่อทราบถึงความคุ้มค่าในการลงทุนในภาพรวมของระบบการผลิตและการตลาดที่ออกแบบเพื่อการศึกษาครั้งนี้ ความคุ้มค่าของโมเดลต้นแบบในการผลิตผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานและกระถางจากมูลโค จะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจต่อไป

Coffee Shop

ดูผลงานทั้งหมด »

Entertainment

ดูผลงานทั้งหมด »

Sport

ดูผลงานทั้งหมด »

Activity

ดูผลงานทั้งหมด »