ไทยร่วมผลักดันแนวคิดสร้างความเข้มแข็งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รับมือวิกฤตโควิด-19 ในเวทีสหประชาชาติ

ไทยร่วมผลักดันแนวคิดสร้างความเข้มแข็งกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
รับมือวิกฤตโควิด-19 ในเวทีสหประชาชาติ1

ปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมที่หลายประเทศเผชิญ คือ ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก ที่นำไปสู่ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม,ปัญหาการเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่2

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเรือนจำ เมื่อมีผู้ติดเชื้อในเรือนจำ เพราะเรือนจำส่วนใหญ่เป็นสถานที่แออัด มีจำนวนนักโทษสูงกว่าศักยภาพในการรองรับของเรือนจำมาก เห็นได้จากข้อมูลในรายงาน Global Prison Trends 2021 ที่จัดทำโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ Penal Reform International (PRI) ระบุว่า ปัจจุบันกว่า 118 ประเทศประสบกับปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ และในบางประเทศมีผู้ต้องขังเกินอัตราความจุเรือนจำถึง 450-600% และพบผู้ต้องขังติดเชื้อมากกว่า 530,000 คนทั่วโลก4

การพัฒนากระบวนการยุติธรรมจะดูเหมือนเป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับหลักการสิทธิมนุษยชน ในกรอบระหว่างประเทศจึงได้มีกลไกทำหน้าที่ที่ช่วยส่งเสริมมาตรฐานสากลนั่นคือ คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) หรือ CCPCJ เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council – ECOSOC) ของสหประชาชาติ (United Nation) จัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1992 ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ นี้จะมีการจัดประชุมทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูล เพื่อพัฒนากลยุทธ์ระดับชาติและระดับสากล นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังมีการกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบงานยุติธรรมรวมถึงการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการเสนอร่างมติ (Resolution)3

โดยในปีนี้การประชุม CCPCJ จัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้หยิบยกประเด็นและนำเสนอนโยบายที่จะช่วยป้องกันอาชญากรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด 19 มากขึ้น สำหรับหน่วยงานหลักที่เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนประเทศไทย คือ หน่วยงานสำคัญในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)5

ประเทศไทยได้ผลักดันประเด็นสำคัญ คือ การรับมือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้สถานการณ์
โควิด-19 ผ่านข้อมติ “Strengthening criminal justice systems during and after the coronavirus disease (COVID-19) pandemic” ซึ่งยกร่างโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ข้อมติดังกล่าวมุ่งสนับสนุนให้รัฐสมาชิกนำบทเรียนและประสบการณ์ในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มาใช้เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยส่งเสริมการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุขและเรือนจำในการจัดการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ การกำหนดนโยบายการลงโทษโดยคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน และการใช้มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก

นอกจากนี้ร่างข้อมติดังกล่าวยังส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะการคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงที่แตกต่างจากผู้ต้องขังชาย และประเมินผลกระทบจากมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่อาจจะส่งกระทบต่อผู้ต้องขังหญิง ตลอดจนสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกนำมาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เช่น ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง (ข้อกำหนดโตเกียว – the Tokyo Rules) ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ – the Bangkok Rules) และ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดเนลสัน
แมนเดลา – the Nelson Mandela Rules) มาปรับใช้ในหน่วยงาน

ข้อมติดังกล่าวยังกำหนดให้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอแนะแนวทางการจัดการกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเชิญชวนให้ สถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ United Nations Programme Network Institute (UN-PNI) พิจารณานำประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในบริบทการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากประเด็น การรับมือของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยยังได้ให้ความสำคัญในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้เสนอ

ข้อมติ “การใช้การกีฬาเป็นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน” (Integrating sport into youth crime prevention and criminal justice strategies) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากข้อมติในหัวข้อเดิมที่ประเทศไทยเคยนำเสนอในปี พ.ศ.2563 โดยมีสาระสำคัญ คือ
การรับรองการจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับ “การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน” (Expert Group Meeting) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2562 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นเวทีในการวิเคราะห์และรวบรวมมาตรการและแนวปฏิบัติจากนานาชาติในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการนำไปบรรจุเป็นนโยบายระดับประเทศและระดับสากล

มติดังกล่าวได้ให้ความสำคัญกับการบูรณาการกีฬาในฐานะเครื่องมือการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่ในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน (Community of Practice) โดยให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ตลอดจนการประสานงานร่วมกัน เพื่อการ
บูรณาการกีฬาในการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสนับสนุนให้นานาชาติตระหนักถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเด็ก เยาวชน สตรี รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เพื่อดำเนินการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มดังกล่าวอย่างเหมาะสมต่อไป

นอกจากการเสนอร่างข้อมติดังกล่าว TIJ ยังได้เข้าร่วมการร่วมประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานด้านกีฬา เยาวชน และชุมชน” (Holistic crime prevention approaches: The contribution of the sport sector towards youth and community resilience) จัดโดย UNODC และรัฐการ์ตา โดยในกิจกรรมคู่ขนานนี้ ประเทศต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Good practice) เช่น รัฐกาตาร์ รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกวันอังคารที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ในทุกปีเป็นวันกีฬาแห่งชาติ และลงทุนในกิจกรรมที่สนับสนุนกีฬาทุกรูปแบบ และประเทศฮอนดูรัสที่ลงทุนสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในโครงการ Park for Better Life เพื่อสนับสนุนการนำกีฬามาใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

“TIJ ในฐานะสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาจะยังคงมุ่งมั่นแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เสริมสร้างความร่วมมือกันกับภาคส่วนต่าง ๆ
และเป็นกลไกสำคัญในการต่อยอดแนวคิดที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาท้าทายในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างครอบคลุมและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดผลตามพันธกิจร่วมกันในระดับนานาชาติต่อไป” สรุปทิ้งท้าย
จากถ้อยแถลงของ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ ที่กล่าวไว้ในเวทีประชุมใหญ่ของการประชุม CCPCJ สมัยที่ 30

Coffee Shop

ดูผลงานทั้งหมด »

Entertainment

ดูผลงานทั้งหมด »

Sport

ดูผลงานทั้งหมด »

Activity

ดูผลงานทั้งหมด »